เขี้ยวงู ๒

Jasminum funale Decne. subsp. sootepense (Craib) P. S.Green

ชื่ออื่น ๆ
มะลินก, มะลิฟ้า, แส้วดง, แส้วดูก, แส้วน้อย, แส้วป่า (เหนือ); ไส้ (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ไม้เถาเนื้อแข็ง ใบเรียงตรงข้าม รูปไข่หรือรูปใบหอกกว้าง ก้านใบและแกนช่อดอกมีขน ดอกสีขาว ออกเป็นช่อกระจุกโปร่งตามง่ามใบและปลายกิ่ง ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกลมหรือรี แก่จัดสีดำ มี ๑ เมล็ด

เขี้ยวงูชนิดนี้เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ยอดอ่อนมีขน

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่หรือรูปใบหอกกว้าง กว้าง ๒-๔ ซม. ยาว ๓-๖ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนมน ตัด หรือเว้าเล็กน้อยเป็นรูปหัวใจ ด้านล่างมีขนหรือค่อนข้างเกลี้ยง ก้านใบยาว ๐.๖-๑.๔ ซม. มีขน ใบประดับรูปแถบถึงรูปลิ่มแคบ

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกโปร่ง ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกสีขาว กลิ่นหอม กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นรูประฆัง ยาว ๑-๒ มม. ปลายแยกเป็นแฉกแหลม ๕-๖ แฉก ยาวประมาณ ๑ มม. มีขนหรือเกลี้ยง กลีบดอกสีขาว โคนติดกันเป็นหลอดเล็ก ยาว ๐.๖-๑.๖ ซม. ปลายแยกเป็น ๖-๘ แฉก แต่ละแฉกยาว ๐.๖-๑ ซม. ปลายแฉกเรียวแหลม ในดอกตูมกลีบดอกซ้อนเหลื่อมกัน เกสรเพศผู้มี ๒ อัน ติดอยู่ในหลอดดอก ก้านชูอับเรณูสั้นมาก อับเรณูรูปขอบขนานแคบแกมรูปรี เมื่อแก่แตกตามยาว แกนอับเรณูมักยื่นยาวออกไปเป็นรยางค์ปลายแหลม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปคล้ายกลอง มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียเป็นแถบยาว ๒ แถบ

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกลมหรือรี ออกเป็นคู่หรือเดี่ยว กว้าง ๗-๙ มม. ยาว ๐.๗-๑.๑ ซม. ผลแก่จัดสีดำ มี ๑ เมล็ด

 เขี้ยวงูชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคตะวันออก พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าผลัดใบ ป่าละเมาะ และบางครั้งพบตามเขาหินปูน ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๒๐๐–๙๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่กัมพูชา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เขี้ยวงู ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Jasminum funale Decne. subsp. sootepense (Craib) P. S.Green
ชื่อสกุล
Jasminum
คำระบุชนิด
funale
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Decaisne, Joseph
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
subsp. sootepense
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- (Craib) P. S.Green
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1807-1882)
ชื่ออื่น ๆ
มะลินก, มะลิฟ้า, แส้วดง, แส้วดูก, แส้วน้อย, แส้วป่า (เหนือ); ไส้ (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์